กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย บก.ปทส. ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผบก.ปทส., พ.ต.อ.อริยพล สินสอน รอง ผบก.ปทส. และ พ.ต.อ.ณัทกฤช น้อยคำปัน ผกก.4 บก.ปทส.
ด้วยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้มอบนโยบายปราบปรามอาชญากรรมแก่หน่วยงานในสังกัด พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดออกตรวจพื้นที่รับผิดชอบ และดำเนินการจับกุมผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการป่าไม้ และการตัดไม้ทำลายป่า
ต่อมา พ.ต.อ. ณัทกฤช น้อยคำปัน ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้สั่งการให้ ชุดปฏิบัติการสืบสวนปราบปรามจังหวัดพิจิตร ลงพื้นที่ตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดพิจิตร จนเมื่อในวันที่ 14 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 16.30 น. ได้ตรวจสอบพบมีร้านขายถ่านไม้ริมถนนทางหลวงหมายเลข 1276 ต.ไผ่รอบ อ.เมือง จ.พิจิตร ตั้งถ่านไม้ใส่กระสอบวางขายอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้สอบถามเจ้าของร้านที่มาแสดงตน คือ นางลมัยพร (สงวนนามสกุล) พบว่าไม่เคยขออนุญาตครอบครองของป่าหวงห้ามมาก่อน ตรวจสอบรอบบริเวณร้านมีถ่านสต๊อกอยู่มากกว่า 6 ตัน (500 กระสอบ)
โดยที่นางลมัยพรฯ อ้างว่ารับซื้อมาเก็บไว้ใช้ในครัวเรือน และแบ่งขายตามโอกาส จึงไม่ได้ไปขออนุญาต ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้แจ้งให้ นางลมัยพรฯ ทราบว่า ถ่านไม้ทุกชนิด ถือเป็นของป่าหวงห้าม ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดของป่าหวงห้าม พ.ศ. 2530 ซึ่งการที่จะมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ในครัวเรือนจะต้องมีไม่เกิน 130 กิโลกรัมเท่านั้น ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ลงวันที่ 22 มกราคม 2531 หากเกินกว่านั้น ผู้ครอบครองจะต้องได้รับจากพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อน จึงจะสามารถครอบครองไว้เพื่อประกอบการค้าได้ จากนั้นจึงได้ทำการตรวจยึดถ่านไม้ รวมแล้วน้ำหนักกว่า 6,000 กิโลกรัม พร้อมด้วยตัวนางลมัยพรฯ นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.โพธิ์ประทับช้าง ดำเนินคดี ในข้อหาตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มีไว้ในครอบครองซึ่งของป่าหวงห้าม (ถ่านไม้ทุกชนิด) เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บก.ปทส.ขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่า การประกอบกิจการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป่าไม้ และทรัพยากรธรรมขาติ ผู้ที่ประกอบกิจการต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ดีก่อนที่จะกระทำการ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทรัพยากรอันมีค่าและควรหวงแหน รักษาเก็บไว้ให้ลูกหลานสืบไป และการประกอบกิจการทุกอย่างต้องขออนุญาตตามขั้นตอนให้ถูกต้อง ถึงแม้ว่าจะเป็นวิถีชาวบ้าน แต่หากวิถีนั้นขัดต่อกฎหมาย ย่อมถูกดำเนินคดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในที่สุดแล้วก็จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้เช่นเดียวกัน
ช่องทางการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม บก.ปทส. สายด่วน 1136 หรือ เพจ Facebook :บก.ปทส.Greencop - Thailand
วุฒิไกร พิมพ์เงิน ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์